บุญข้าวสาก หรือบุญเดือนสิบ ประเพณีดั่งเดิมของชาวไทย

บุญข้าวสาก ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ประเพณี บุญเดือน 10 อีสาน

การทำบุญข้าวสาก นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประจำทุกปี ที่เรียกว่า “บุญข้าวสาก” เนื่องจากเมื่อจัดทำข้าวปลาอาหาร และเครื่องไทยทานต่าง ๆ อุทิศให้ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จะทำสากหรือสลาก มีคำอุทิศส่วนกุศลใส่กระดาษบันทึกชื่อ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และความประสงค์ว่าจะบริจาคทานให้แก่ผู้ใด โดยบอกชื่อผู้ที่จะ มารับส่วนกุศลด้วย

ความเป็นมาของ สลากภัตตทาน

ความเป็นมาของสลากภัตตทาน ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนี้นบุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า “เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า”ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วย จึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตตทานพร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพีแล้วตั้งความปราถนา “ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด” ดังนี้. ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า “สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา” กาล กตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิส เสวยราชสมบัติอยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเอง นี่คืออานิสงฆ์แห่งการถวายสลากภัตต์ นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้.

คำถวายสลากภัต

เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
คำแปล
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ.
พิธีกรรม ของ สลากภัต
เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะเตรียมอาหาร คาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร พอถึงเวลาประมาณ 9 – 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อยซึ่งมีอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อยแต่ละห่อประกอบด้วย

  • ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว
  • กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่)เป็นอาหารหวาน

หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่จะใช้ 10 คู่ เมื่อนำไปเลี้ยง “ผีตาแฮก” ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตาแฮกพอใจ และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวได้แก่ นก หนู ปูนา ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนาอีกส่วนหนึ่ง เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัดที่จะทำบุญแล้ว เขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตร เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณร จับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว.

ความหมาย คำเทศนา เกี่ยว บุญข้าวสลาก ของ หลวงพ่อ ชา พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท)

” วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ ซึ่งประกอบด้วยเดือน ๑๐ เพ็ญภาษาประเพณีบ้านเราเรียกว่า “บุญข้าวสาก” (สลาก) ศัพท์เดิมมาจากคำว่า ข้าวสลากภัต ตามภาษาบ้านเราเรียกว่า “ข้าวสาก” (ภาษาท้องถิ่นอิสาน) ความเป็นจริง คำว่า “สาก” มันออกมาจาก “สลาก” สลากภัต… ประเพณีบรรพบุรุษของเราทั้งหลายนับถือกันว่าเป็นบุญในกลางพรรษา จะมีการทำบุญกันในช่วงเดือน ๙ ดับเดือนเพ็ญ ๑๐. ในสมัยก่อนนั้น วันนี้จะมีเทศน์ตลอดวัน แจกหนังสือเป็นกัณฑ์ให้พระภิกษุสามเณรกันทุกปี ข้าวสลากภัต. เนื่องมาจากญาติโยมทั้งหลายถวายทาน จับสลากกัน คือญาติโยมเขียนชื่อพระภิกษุสามเณรลงในบาตร แล้วให้ญาติโยมจับสลาก ใครจับถูกพระองค์ไหนก็เอาไทยทานไปถวายพระภิกษุองค์นั้น เรียกว่า “ข้าวสลาก” เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลหาเปรตญาติทั้งหลาย ซึ่งเป็นบุพการี ระลึกถึงคุณบิดามารดา ซึ่งเป็นที่นับถือของกุลบุตรลูกหลาน ตามประเพณีของเราเรียกว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายที่ล่วงลับไปนมนาน และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ดับขันธ์ไปสู่ปรโลกหน้า และที่ยังมีจิตวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ในกลางพรรษาแต่ละคราวทำบุญครั้งหนึ่ง เรียกว่า บุญข้าวสลาก บ้านเราแต่ก่อนห่อข้าวสาก (ประเพณีชาวอิสาน) ห่อข้าวไปวางไว้ตามรอบๆ วัด หรือรอบๆ บ้านเรา เป็นประเพณีของพวกเราทั้งหลายเคยทำกันมาทุกๆ ปีมิได้ขาด แล้วก็เอาเรื่องชาดกต่างๆ มาเทศน์ เกี่ยวกับนิยายของบรรพบุรุษทั้งหลาย เอามาเทศน์สู่กันฟัง ปีหนึ่งๆ จะต้องทำกัน และมีกฎเกณฑ์ว่าวันนี้พวกเราที่เป็นชาวพุทธ เป็นลูกเป็นหลานของบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้วได้พากันมาให้ทานพ่อแม่ โบราณเขาถือว่าวันนี้ยมบาลปล่อยเปรตปล่อยสัตว์นรกมารับของแจกทาน ในศาลาโรงธรรม.สมัยก่อนไม่เรียกว่า “ศาลาโรงธรรม” แต่เรียกว่า “หอแจก” คือหมายความว่าเป็นสถานที่เราชาวพุทธบริษัทได้มาทำบุญให้ทาน ถวายทาน ในสถานที่นั้นเรียกว่า “หอแจก” เพราะเป็นโรงทานสำหรับแจกอาหารบริโภคขบฉัน เป็นสถานที่แจกทาน ทุกวันนี้เรียกว่า “ศาลาโรงธรรม” เป็นสถานที่ฟังธรรม อธิบายธรรมะ เกี่ยวกับการแนะนำพร่ำสอนกุลบุตรลูกหลาน พวกเราทั้งหลาย เราที่ทำกันมาอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดมา เรียกว่าการทำบุญ รวมเป็นบุญอันเดียวกัน ชื่อของบุญต่างกัน แต่ว่ามารวมเป็นบุญอันเดียวกัน เหมือนกับคนเราถึงว่าชื่อจะแตกต่างกัน ก็ชื่อว่าเป็นคนธรรมดาอันเดียวกัน แต่ชื่ออาจจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นคนเหมือนกัน.