ชนเผ่าโย้ย

ชนเผ่าโย้ย

โย้ยเป็นอีกชนเผ่าหนึ่งของจังหวัดสกลนครที่มีรูปแบบวัฒนธรรมเป็นของตนเอง  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถรักษาเอกลักษณ์ของกลุ่มตนได้อย่างดี  เช่น ภาษาพูดในกลุ่มของตนเอง  มีการพูดภาษาโย้ยภายในครอบครัว  การมีประเพณีการละเล่นเป็นของตนเอง  เช่น พิธีไหลฮ้านบูชาไฟ  การเล่นโย้ย
กลองเลง  หรือการมีวัฒนธรรมทางสายน้ำในรูปการแข่งขันเรือยาวเป็นประจำทุกๆ ปี

โย้ยเป็นชนเผ่าหนึ่งที่พบมากที่สุดในเขตอำเภออากาศอำนวย วานรนิวาส และอำเภอบ้านม่วง ของจังหวัดสกลนคร  จากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น  พบว่า สภาพทั่วไปของชุมชนชาวโย้ยเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างเขตจังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนครชื่อว่าบ้านริมยาม  เพราะมีลำน้ำยามไหลผ่าน  พื้นที่ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกจึงมีราษฎรจากที่อื่นอพยพมาอาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก  ทำให้ชาวบ้านริมยามมีความเจริญมากขึ้น ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองขนานนามใหม่ว่าเมืองอากาศอำนวย โดยพระบรมราชโองการแต่งตั้งท้างศรีสุราชเป็นผู้ครองเมืองอากาศอำนวย จึงมีฐานะเป็นเมืองขึ้นกับจังหวัดนครพนมเป็นเวลานาน 70 ปี ต่อมาพุทธศักราช 2428 ได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองใหม่ เทศาภิบาลเมืองอุดรธานีได้มาตรวจราชการที่อำเภออากาศอำนวยเห็นว่าการคมนาคม และการติดต่อไปมากับจังหวัดนครพนมไม่สะดวก จึงได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภออากาศอำนวยเป็นตำบล และให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ต่อมาปีพุทธศักราช 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มาตรวจราชการที่ภาคอีสาน และได้มาตรวจเยี่ยมที่ตำบลอากาศอำนวย ได้พิจารณาเห็นว่าตำบลอากาศอำนวยรวมทั้งตำบล
วาใหญ่ ตำบลโพนแพง ตำบลโพนงาม รวม 4 ตำบล ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอวานรนิวาสมากการติดต่อของราษฎรตำบลหนึ่ง ๆ กับที่ว่าการอำเภอไม่สะดวกรวดเร็ว และไม่สะดวกต่อการปกครองอีกด้วย ทั้ง 4 ตำบลนี้มีบ้านเรือนของราษฎรหนาแน่นพอที่จะจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้นได้ และประการสำคัญที่สุด เป็นท้องที่ที่มีก่อการร้ายแทรกซึม และเผยแพร่ลัทธิอยู่เป็นจำนวนมาก สมควรที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะได้ออกไปดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิดจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออากาศอำนวยขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2506 และต่อมาเมื่อมีความเจริญมากยิ่งขึ้นได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็นอำเภออากาศอำนวย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 จนถึงปัจจุบัน

วัฒนธรรมชาวโย้ย ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ชาวไทโย้ยบ้านอากาศ ทั้งชายและหญิง มีรูปร่างสันทัด ผิวสองสีค่อนข้างขาวกว่าชาวไทยลาวซึ่ง เป็นชนกลุ่มใหญ่ในภาคอีสาน พูดภาษาโย้ยในกลุ่มตนเอง แต่เมื่อสื่อความหมาย กับคนนอกกลุ่มจะปรับตัวใช้สำเนียงไทยลาว หรือไทยกลาง เมื่อถูกเรียกว่า โย้ยก็ยอมรับด้วยความภาคภูมิใจ แสดงให้เห็นว่าชาวไทโย้ยมีความเข้าใจตนเอง
ภูมิใจในการที่เป็นชาวไทโย้ยซึ่งยังรักษาเอกลักษณ์ และคุณลักษณะต่าง ๆ ของชาติพันธุ์เดิม เช่น ความเป็นอยู่มัธยัสถ์ สมถะ ขยัน มีความสามัคคีในกลุ่ม เคารพผู้อาวุโส อาชีพหลักของชาวโย้ย คือ การทำนา อาชีพเสริม ได้แก่ การหาปลา เนื่องจากอยู่ใกล้ลำน้ำยาม การจักสาน การทอผ้า ซึ่งนอกจากจะเอาไว้ใช้เองแล้ว  ปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ้าที่ชาวไทโย้ยทอขึ้นนี้จัดเป็นผ้าที่งดงามมาก แสดงให้เห็นว่าชาวไทโย้ย มีความเข้าใจตนเอง และภูมิใจในการรักษาเอกลักษณ์ของกลุ่มตนเอง ในด้านภาษา และคุณลักษณะที่แสดงออกในกิจวัตรประจำวัน

การทำงาน ครอบครัวของชาวโย้ยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จึงมีแรงงานทั้งเด็ก และผู้ใหญ่บิดามารดาจะมอบหมายงานให้บุตรรับผิดชอบตามวัยที่สามารถจะช่วยได้ เช่น ช่วยหยิบสิ่งของ ปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือน เลี้ยงน้อง เลี้ยงสัตว์ ตักน้ำ ช่วยทำสวนครัว  เป็นต้น เมื่อโตขึ้นจะรับผิดชอบงานแทบทุกอย่างทำให้แบ่งเบาภาระครอบครัวได้ ชาวไทโย้ย ส่วนใหญ่ต้องมีงานทำ เพื่อให้มีรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน งานที่ทำมากที่สุด คือ ทำนา
ตัดเย็บเสื้อผ้า ทอผ้า จักสาน ทำสวน ทอเสื่อ ขายของเบ็ดเตล็ด ซ่อมจักรยานยนต์ เป็นงานอันรอง ๆ ลงมา นอกจากนี้ยังมีการสร้างบ้านเอง ขี่สามล้อรับจ้าง ช่างไฟ และอื่น ๆ

ความเชื่อ  เรื่องภูตผี ชาวไทโย้ยมีความเชื่อว่าผีมีจริง จากข้อมูลที่ได้ พบว่า  ผีที่ชาวบ้านไทโย้ยนับถือ ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ เป็นผีประจำตระกูล หมายถึง ผีปู่ย่า ตา ยาย ที่คอยดูแลรักษาลูกหลานในครอบครัว และผีเรือน เป็นผีประจำครอบครัว ส่วนผีแฮกเป็นผี ดูแลไร่นาไม่ให้เสียหายจากภัยพิบัติต่าง ๆ และให้ได้ผลผลิตมาก ๆ โดยเฉพาะชาวไทโย้ย บ้านอากาศทำพิธีเซ่นสรวงหรือเลี้ยงผีเหล่านี้เสมอโดยเฉพาะผีตาแฮกเพราะถือว่าจะอำนวย ผลดีในการทำนา เซ่น สรวงผีบรรพบุรุษ เมื่ออยู่ดีกินดีมีความอุดมสมบูรณ์ก็ไปวัดอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใด จะไปไหนมาไหน ก็มีความสุขกายสุขใจ จะมีการเซ่นสรวงผีทุกครั้ง และจะไม่ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าการผิดผี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองเห็น การผิดผีอาจเกิดขึ้นได้จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความคึกคะนอง หรือการผิดประเพณีอย่างใดอย่างหนึ่ง