ปราสาทภูเพ็ก

16 ม.ค. 2562
2658

พระธาตุภูเพ็ก หรือ ปราสาทภูเพ็ก

จัดเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่บนภูเขา ประดิษฐานบนเทือกเขาภูพาน ณ วัดพระธาตุภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พระธาตุภูเพ็ก เป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยหินทราย เรือนธาตุตั้งอยู่บนฐานยกสูง ตอนหน้าของปราสาทมีฐานหินเป็นก้อนเรียงซ้อน ๆ กัน ยื่นออกคล้ายกากบาท เรียกว่า โคปุระ สูงกว่าฐานของเรือนฐานเล็กน้อย ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านย่อมุม ๆ ละ ๕ เหลี่ยม รวมเป็น ๒๐ เหลี่ยม ความกว้างของปราสาทโดยรอบกว้างด้านละ ๑๑ เมตร มีชานเป็นพื้นที่กว้างพอสมควร ความสูงจากพื้นดินถึงฐานชั้นที่ ๑ สูง ๑.๕๘ เมตร จากฐานชั้นที่ ๑ ถึงฐานชั้นที่ ๒ สูง .๗๐ เมตร ตัวเรือนปราสาททั้ง ๓ ด้าน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก บริเวณโดยรอบพบสระน้ำโบราณและแหล่งสกัดหินในการสร้างปราสาท หน้าอาคารปราสาทหันไปทางทิศตะวันออกและมีบันไดหินก่อปูนขึ้นบนยอดเขาประมาณ 491 ขั้น ตามตำนานสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง

พงศาวดารและอุรังคนิทาน….. ที่มาของชื่อ “ภูเพ็ก”

เมื่อครั้งศาสนาพระพุทธเจ้ากัสสะปะ ขุนขอมราชบุตรเจ้าเมือง อินทปัฐนคร ในประเทศกัมพูชา   ได้พาไพร่พลเดินทางมาสร้างเมืองใหม่บริเวณท่านางอาบให้ชื่อว่าเมืองหนองหานหลวง ขุนขอมมีโอรสคนหนึ่งชื่อว่าเจ้าสุระอุทก ขึ้นครองเมืองต่อจากพระบิดาด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษาหลังจากที่ขุนขอมทิวงคต วันหนึ่งพระยาสุระอุทกเสด็จออกไปยังเขตแคว้นหนองหานหลวงแถบลำน้ำมูลได้เผชิญหน้ากับ พยานาคชื่อธนมูล เกิดการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายแต่ก็ไม่มีผู้ใดแพ้ชนะเพราะต่างอ่อนแรงไปทั้งคู่ พระยาสุระอุทกจึงยกไพร่พลกลับ แต่นาคธนมูลผูกใจเจ็บจึงพาเหล่าทัพอสรพิษติดตามไปอย่างเงียบๆจนถึงเมืองหนองหานหลวง ทั้งหมดได้แปลงกายเป็นอีเก้งเผือก พระยาสุระอุทกได้ทราบว่ามีอีเก้งเผือกมาปรากฏกายจึงสั่งให้พรานออกไปล่าเอาเนื้อมาแจกจ่ายกินกันอย่างทั่วถึงทั้งเมือง ทำให้นาคธนมูลโกรธแค้นยิ่งนัก ตกดึกคืนนั้นบรรดานาคได้โผล่ขึ้นมาถล่มเมืองหนองหานหลวงจนจมใต้น้ำ และจับพระยาสุระอุทกมัดด้วยบาศบ่วงฉุดลากอย่างทรมานไปลงแม่น้ำโขงแล้วเอาศพไปคืนให้แก่เจ้าเมืองอินทปัฐนคร ฝ่ายเจ้าภิงคารและเจ้าคำแดงราชบุตรของพระยาสุระอุทกพร้อมด้วยผู้ที่รอดตายจำนวนหนึ่งได้มาตั้งเมืองใหม่อยู่บนที่ดอนบริเวณภูน้ำลอดเชิงชุม ณ ที่นั้นมีพระยานาคผู้ทรงศีลธรรมชื่อ สุวรรณนาค ได้ประกอบพิธีอภิเษกเจ้าภิงคาระขึ้นเป็นเจ้าเมืองหนองหานหลวงใหม่พระนามว่า พระยาสุวรรณภิงคาระ พร้อมกับมเหสีชื่อ   พระนางนารายณ์เจงเวง ส่วนเจ้าคำแดงได้ไปครองเมืองหนองหานน้อย(บริเวณอำเภอกุมภวาปี) ต่อมาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยสาวก 1,500 องค์เสด็จมาฉันข้าวที่ภูกำพร้า พระองค์ทรงรำลึกถึงประวัติพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ได้เคยมาประชุมรอยพระบาทไว้ที่ภูน้ำลอดเชิงชุมทุกพระองค์ จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้บนแผ่นศิลาเป็นรอยที่ 4 พระยาสุวรรณภิงคารจึงสร้างเจดีย์ครอบรอยพระบาทเหล่านั้นไว้ปัจจุบันเรียกว่าพระธาตุเชิงชุม ต่อมาเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วพระยาสุวรรณภิงคารทราบข่าวว่าพระมหากัสสปะจะนำอุรังคธาตุมาบรรจุที่เมืองหนองหานหลวงจึงสั่งให้ชาวเมืองฝ่ายชายและหญิงแข่งกันสร้างอุโมงค์หากใครเสร็จก่อนจะได้อุรังคธาตุไปบรรจุไว้บูชา ฝ่ายหญิงซึ่งมีพระนางนารายณ์เจงเวงเป็นหัวหน้าได้เลือกสถานที่ในเมือง ส่วนฝ่ายชายจะก่อสร้างบนภูเขาที่ดอยแท่น มีข้อตกลงว่าหากเห็นดาวเพ็ก(ดาวพระศุกร์)ขึ้นก็ให้วางมือ ระหว่างก่อสร้างฝ่ายหญิงได้ใช้อุบายหลอกฝ่ายชายให้ทำงานไม่สะดวกเช่นแต่งตัวไปยั่วยวน ขณะเดียวกันฝ่ายชายก็ประมาทฝีมือฝ่ายหญิงด้วย ในที่สุดฝ่ายหญิงสร้างเสร็จก่อนพร้อมกับจุดโคมไฟหลอกว่า “ดาวเพ็ก” ขึ้นแล้วทำให้ฝ่ายชายละทิ้งงานและก็รู้ว่าถูกหลอก ปราสาทภูเพ็กจึงเสร็จเพียงครึ่งเดียวอย่างที่เห็น และกลายมาเป็นชื่อปราสาทหลังนี้ว่า “ภูเพ็ก” เพราะตั้งอยู่บนยอดภูเขาบวกกับเรื่องราวของ “ดาวเพ็ก” 

อย่างไรก็ตาม นิทานเรื่องทำนองนี้มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคขึ้นอยู่กับว่าใครจะแต่งเรื่องแบบไหน เท่าที่ค้นคว้าได้พบว่ามีอยู่อีก 2 แห่ง คือ ปราสาทหินพิมาย แข่งกับปราสาทหินพนมวัน ที่โคราช และปราสาทหินวัดภู ที่แขวงจำปาสัก ประเทศลาว แข่งกับ พระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม

หลังจากยุคของพระยาสุวรรณภิงคาระแล้วมีเจ้านายขอมผลัดเปลี่ยนกันมาปกครองเมืองหนองหานหลวงอีกหลายคน แต่ที่สุดก็ทิ้งเมืองกลับไปยังกัมพูชาเพราะฝนแล้งติดต่อกัน 7 ปี ทำนาไม่ได้เลย เมืองหนองหานหลวงจึงร้างมาจนสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์มาเป็นพระธานีครองเมืองหนองหานหลวงโดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสกลทวาปี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ พระธานีมีใจเอนเอียงเข้าข้างจึงถูกประหารชีวิต และให้คนใหม่คือพระยาประเทศธานีเป็นเจ้าเมืองพร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นสกลนครตราบจนปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

จากเอกสารของกรมศิลปากรในหนังสือชื่อ รอยอดีตสกลนคร อธิบายว่าไม่สามารถยืนยันปราสาทแห่งนี้สร้างในสมัยใด เพราะไม่ปรากฏจารึกและลวดลายแกะสลักแม้แต่แผ่นเดียว แต่จากการดูแบบแปลนและทำเลสถานที่ตั้งสัณณิฐานว่าอาจจะสร้างในราวพุทธศัตวรรษ ที่ 16 – 17 ในศิลปะเขมรแบบบาปวน-นครวัด และน่าจะมีความตั้งใจสร้างเพื่อเป็นศาสนสถานฮินดู

ในความเห็นส่วนตัวของผมเชื่อว่าปราสาทภูเพ็กน่าจะสร้างในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระหว่าง พ.ศ.1724 – 1762 ด้วยเหตุผล 4 ประการ กล่าวคือ

1.กษัตริย์ขอมองค์นี้มีโครงการก่อสร้างมากมายทั้งศาสนสถาน โรงพยาบาล ที่พักคนเดินทาง ถนน และปราสาทน้อยใหญ่ กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร หลายแห่งสร้างไม่เสร็จเพราะสิ้นพระชนม์เสียก่อน นักโบราณคดีชาวสวีเดน ชื่อ Jan Myrdal เขียนไว้ในหนังสือเกี่ยวกับเมืองพระนคร (Angkor) ไว้ว่า      “ พอบรรดาคนงานได้ยินข่าวการสิ้นพระชนม์ ต่างก็ละทิ้งงานและกลับบ้าน “ ขณะเดียวกัน David Chandler ผู้เขียนหนังสือ A History of Cambodia กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า มีการบังคับเกณฑ์ผู้คนจำนวนมากไปก่อสร้างปราสาทต่างๆโดยบอกคนเหล่านั้นว่า “ พวกเจ้าเหนื่อยยากในชาตินี้จะได้บุญในชาติหน้า ” ดังนั้นปราสาทภูเพ็กก็มีสิทธิถูกทิ้งงานเช่นเดียวกับปราสาทหลายแห่งในกัมพูชาเมื่อคนงานได้ยินข่าวการสิ้นพระชนม์ การผละงานและกลับบ้านไปอยู่กับลูกเมียในครั้งนี้อาจเป็นที่มาของตำนานการแข่งขันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่ลงเอยด้วยความปราชัยอย่างย่อยยับของฝ่ายชาย อนึ่งจากการสนทนากับพระรูปหนึ่งซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดภูเพ็ก ท่านเล่าให้ผมฟังว่าได้นั่งทางในเห็นภาพเหตุการณ์การก่อสร้างปราสาท ภูเพ็กโดยใช้แรงงานคนพื้นเมืองที่ถูกขุนขอมเกณฑ์มาเยี่ยงทาส มีการบังคับให้ทำงานหนักจนล้มตายมากมาย วิญญาณของเขาเหล่านั้นยังคงวนเวียนทนทุกข์ทรมานไม่ได้ไปผุดไปเกิด พระรูปนี้จึงต้องช่วยแผ่เมตตาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะฟังดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์แต่ก็เป็นข้อมูลที่พระท่านเล่าให้ผมฟังเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2545 ขณะเดินกลับจากการสำรวจเนินดินลึกลับ 7 ลูก ที่เรียงตัวเป็นเส้นตรงห่างจากกันประมาณ 60 ก้าวเดิน ในบริเวณที่ราบด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูเขาที่ตั้งปราสาทภูเพ็ก ในฐานะนักพิภพวิทยาผมต้องรับฟังข้อมูลทุกเรื่องด้วยความเคารพ

2.พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับถือศาสนาพุทธมหายานอย่างเคร่งครัด  แต่กษัตริย์ขอมองค์ต่อๆมา กลับไปนับถือฮินดูและไม่พอใจในศาสนาพุทธอย่างแรง ดังนั้นในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ระหว่าง พ.ศ.1786 – 1838 มีการทุบทำลายสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดังที่ Vittorio Roveda กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Khmer Mythology Secret of Angkor โดยใช้ถ้อยคำว่า The new ruler reintroduced Shivaism in an episode of intolerance unique in the history of Southeast Asia, when all Buddhist images in the temples were destroyed.

ไม่แน่ว่าตรงกลางปราสาทอาจจะเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปแล้วถูกนำไปทุบทิ้ง ดังเช่นพระพุทธรูปนาคปรกในปราสาทพระขันฑ์ (Preakhan) ที่เมืองนครทม ถูกทุบทำลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและทิ้งลงในบ่อน้ำ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสต้องงมขึ้นมาซ่อมอย่างประณีตและนำกลับไปตั้งไว้ที่เดิมในปราสาทพระขันฑ์ตามเจตนารมย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผมคิดว่าน่าจะมีการค้นหาในบริเวณใต้สระน้ำหรือถ้ำต่างๆที่ปราสาทภูเพ็กอาจจะพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปนาคปรกอย่างที่ปราสาทพระขันฑ์ก็ได้ อย่างไรก็ตามที่ปราสาท นาคพัน (Neak Pean) ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บริเวณกลุ่มโบราณสถานแห่งนครอังกอร์ ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา มีรูปศิวะลึงค์อยู่หลายอันผู้เชี่ยวชาญบอกว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 สั่งให้นำเข้าไปแทนที่รูปพระโพธิสัตว์

  1. หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว กษัตริย์ขอมองค์ต่อๆมาที่ทรงพระราชอำนาจและมีกำลังเพียงพอต่อการปกครองราชอาณาจักร ตลอดจนมีกำลังเพียงพอต่อการก่อสร้างปราสาทและโครงการต่างๆ ก็เห็นจะมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 แต่กษัตริย์องค์นี้ไม่สบอารมณ์กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างแรง เนื่องจากนับถือศาสนาฮินดูแบบขวาสุด ถึงขนาดสั่งให้ทุบทำลายพระพุทธรูป และผลงานจำนวนมาก ดังตัวอย่างที่ปราสาทตาพรม และปราสาทนาคพัน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่กษัตริย์พระองค์นี้จะหันมาสานต่อการก่อสร้างปราสาทภูเพ็กให้แล้วเสร็จ ผมว่าท่านไม่ส่งทหารมารื้อทิ้งส่วนที่ก่อสร้างไว้ก็บุญแล้ว หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 อาณาจักรขอมก็มาถึงสัจธรรมที่ว่าด้วยการเสื่อมถอย และล่มสลาย ปราสาทภูเพ็กจึงถูกทิ้งร้างอย่างเดียวดายอยู่บนยอดภูเขาสูงท่ามกลางสายลม สายฝน และแสงแดด จนถึงยุคสมัยที่กรมศิลปากรส่งช่างมาสำรวจเมื่อปี 2476 และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2478

            มีการพบพระพุทธรูปศิลปะขอม สกัดจากหินทรายขนาดเล็กที่ในถ้ำบริเวณปราสาทภูเพ็ก ปัจจุบันตั้งอยู่ในตู้กระจกภายในวัดพระธาตุภูเพ็ก แสดงว่าผู้สั่งให้สร้างปราสาทต้องเป็นชาวพุทธและพระราชาที่นับถือพุทธแถมมีอำนาจยิ่งใหญ่สามารถแผ่บารมีไปยังดินแดนไกลๆก็มีองค์เดียวคือ ชัยวรมันที่ 7

 4. เมืองหนองหานหลวงเป็นดินแดนที่อิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ แผ่มาถึงอย่างแน่นอน เพราะที่บ้านพันนา ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน มีโบราณสถานที่เป็น อโรคยาศาล” หรือโรงพยาบาลตามโครงการรักษาพยาบาลฟรีแก่ผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องมีบัตรทองแบบ 30 บาท แถมยังมีบริการให้กินข้าวฟรีจากคลังของพระราชา ดังคำจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ จากหนังสือหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวว่า “ ข้าวสารสำหรับเป็นเครื่องบูชาเทวรูปวันละหนึ่งโทรณะทุกวันเครื่องพลีทานที่เหลือ พึงให้แก่ผู้มีโรคทุกวัน ทุกปี สิ่งนี้ควรถือเอาจากคลังของพระราชาสามเวลา แต่ละอย่างควรให้ในวันเพ็ญ เดือนใจตระ และในพิธีศารท ในกาลที่พระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศเหนือ “  นอกจากนี้ยังมีสะพานหินศิลปะขอม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสะพานขอม ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ถนนทางเข้าตัวเมืองสกลนคร สะพานลักษณะนี้มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ ขอนแก่น กรมศิลปากร ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ รอยอดีตสกลนคร ว่ามีลักษณะเทียบได้กับสะพานข้ามแม่น้ำชีเกรง ที่เมืองกัมปงกเด็ย (Kampong Kdei) ประเทศกัมพูชา ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ราวพุทธศตวรรษ ที่ 18 และหนังสือ ชื่อ Khmer Lost Empire of Cambodia ของบริษัท New Horizons ระบุว่าสะพานข้ามแม่น้ำชีเกรง เป็นเขื่อนทดน้ำชลประทาน (Barrage-bridge) เรียกว่าสะเพียนปราโตด (Spean Praptos) จึงทำให้เชื่อได้ว่ามีการใช้น้ำชลประทานเพื่อทำนาในบริเวณนี้ เพราะขอมมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีการชลประทานอยู่แล้วจนนักโบราณคดีชาวตะวันตกที่ศึกษาเรื่องราวของอาณาจักรอังกอร์หรือเขมรโบราณ ต่างยกให้พวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ (Master of Water Management)  Dr.Dhida Saraya กล่าวในหนังสือชื่อ Preah Vihear Sri Sikharesvara ถึงอิทธิพลทางด้านการเมืองและวัฒนธรรมของพระเจ้าชัยวรมันที่ แผ่ขยายไปยังลุ่มน้ำชีมูล แอ่งสกลนคร แอ่งแม่น้ำโขงถึงเมืองเวียงจันทน์และเวียงกาม


ที่มา http://district.cdd.go.th/phannanikhom/2017/04/04/ปราสาทภูเพ็ก/